top of page
ค้นหา

โรคมาลาเรีย โรคหน้าฝนที่คุณแม่และน้อง ๆ ต้องระวัง อย่าตกเป็นเหยื่อของยุงร้าย


เข้าสู่หน้าฝนกันแล้ว มีหลาย ๆ โรคที่มักจะมากับหน้าฝน และก็มีหลาย ๆ โรค ที่เป็นภัยต่อคนที่กำลังตั้งท้องและเด็ก ๆ วัยกำลังโต หนึ่งในนั้นคือ โรคมาลาเรียนั่นเอง หลายคนอาจคิดว่าโรคนี้ คือโรคเดียวกับไข้เลือดออก แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น โรคไข้มาลาเรีย ต่างจากไข้เลือดออกยังไง จะระมัดระวังตัวเองไม่ให้เป็นโรคนี้ได้ไหม เดี๋ยวเราจะมาเล่าให้ฟัง

โรคมาลาเรียคืออะไร

มาลาเรีย หรือไข้มาลาเรีย เป็นโรคที่เกิดจากพยาธิ มียุงเป็นพาหะนำโรค ซึ่งยุงมักแพร่เชื้อมาลาเรียสู่มนุษย์โดยการกัด โรคนี้พบได้บ่อยในประเทศเขตร้อน รวมทั้งประเทศไทย จากสถิติในแต่ละปี มีคนป่วยเป็นโรคนี้มากถึงปีละเกือบ 300 ล้านคนทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่า 4 แสนคนต่อปีเลยทีเดียว นอกจากโรคนี้จะสามารถถ่ายทอดจากยุงสู่คนได้แล้ว ก็ยังถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก จากการบริจาคเลือด และจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันได้อีกด้วย โดยเชื้อมาลาเรียจะถูกลำเลียงไปตามร่างกายผ่านเม็ดเลือดแดง ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคมาลาเรียนั้น ก็มักจะมีอาการ เช่น

  • ไม่สบาย มีไข้สูง

  • มีอาการหนาวสั่น

  • รู้สึกไม่สบายทั่วไป

  • คลื่นไส้ อาเจียน

  • ปวดหัว

  • ท้องร่วง

  • ปวดท้อง

  • ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดตามบริเวณข้อต่อ

  • ร่างกายเหนื่อยอ่อน อ่อนเพลีย

  • หายใจเร็วและถี่

  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

  • มีอาการไอ

หากคุณแม่หรือน้อง ๆ มีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้น ให้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการโดยด่วน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คนที่ติดเชื้อมาลาเรีย จะเริ่มมีอาการหลังจากติดเชื้อภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่บางทีเชื้อมาลาเรีย ก็อาจฟักตัวอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้นานถึง 1 ปี โดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวเลยก็ได้



ไข้มาลาเลียต่างจากไข้เลือดออกยังไง

เนื่องจากว่าไข้มาลาเรียและไข้เลือดออก เป็นโรคที่มียุงเป็นพาหะเหมือนกัน เลยทำให้ใครหลาย ๆ คนเข้าใจไปว่า 2 โรคนี้ คือโรคเดียวกัน ความจริงแล้วไข้มาลาเรียและไข้เลือดออกนั้นไม่เหมือนกัน ไข้มาลาเรีย จะมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค โดยยุงชนิดนี้ มักอยู่ตามป่า เขา สวนผลไม้ สวนยาง แอ่งน้ำขัง แอ่งดิน หรือที่ที่มีความชื้นสูง และคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่ มักมีอาการรุนแรงมากจนเสียชีวิต โดยจะเริ่มเป็นไข้ก่อน และรู้สึกอ่อนเพลีย รวมทั้งมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย จนอาจชัก และเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในที่สุด ในขณะที่ไข้เลือดออก จะมียุงลายเป็นพาหะ ซึ่งยุงชนิดนี้พบได้ตามสวนหลังบ้าน หรือตามแหล่งชุมชน และผู้ป่วยมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ก็มักจะไม่แสดงอาการป่วยออกมาให้เห็น และก็ไม่ได้มีอาการแทรกซ้อนจนเสียชีวิตเหมือนกับไข้มาลาเรีย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคมาลาเรีย

กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นไข้มาลาเรีย คือกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในแถบประเทศแอฟริกา เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะแปซิฟิก อเมริกากลางและตอนเหนือของอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่ยุงชุกชุมและสามารถแพร่พันธุ์ได้เยอะ นอกจากนี้ หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และคนสูงอายุ ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะติดไข้มาลาเรียได้มากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากอยู่ในช่วงที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ ไข้มาลาเรีย ถือเป็นหนึ่งในโรคร้าย ที่ทำให้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมทั้งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ดังนี้

อาการชัก

หากเชื้อมาลาเรียไปฝังตัวอยู่หลอดเลือด และยับยั้งไม่ให้เลือดไปเลี้ยงสมอง อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการชัก สมองบวม เพราะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จนสมองถูกทำลาย และอาจทำให้โคม่าจนเสียชีวิตได้

ปัญหาด้านการหายใจ

เมื่อเป็นโรคไข้มาลาเรีย เชื้อมาลาเรียอาจทำให้ปอดของผู้ป่วยมีของเหลวสะสมอยู่เยอะ จน น้ำท่วมปอด ทำให้หายใจได้ลำบาก หรือหายใจไม่ออก

อวัยวะภายในล้มเหลว

เชื้อมาลาเรีย สามารถทำลายตับและไต หรือทำให้ม้ามแตกได้ รวมทั้งอาจสร้างความเสียหายให้อวัยวะภายในอื่น ๆ ในร่างกาย ซึ่งภาวะแทรกซ้อนนี้ ค่อนข้างอันตรายร้ายแรง เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

น้ำตาลในเลือดต่ำ

ผู้ป่วยที่มีอาการมาลาเลียอย่างรุนแรง อาจมีน้ำตาลในเลือดต่ำลงเรื่อย ๆ หากผู้ป่วยมีน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป และไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้มีอาการโคม่า และเสียชีวิตลงในที่สุด

โรคโลหิตจาง

เนื่องจากว่าเชื้อมาลาเรีย จะแฝงตัวในร่างกายมนุษย์ผ่านเซลล์เม็ดเลือดแดง ดังนั้น เซลล์เม็ดเลือดแดงจะค่อย ๆ ถูกเชื้อโรคกัดกินจนเสียหาย ส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดแดงไปเลี้ยงร่างกายได้ไม่เพียงพอ จนทำให้เป็นโรคโลหิตจาง




หน้าฝน ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างจากไข้มาลาเรีย

ในปัจจุบัน ได้มีการทดลองใช้วัคซีนป้องกันไข้มาลาเรียในบางประเทศ แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้วัคซีนกันอย่างแพร่หลาย หากคุณแม่และน้อง ๆ ต้องเดินทางไปในที่ที่ยุงชุกชุม หรือที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค เราสามารถดูแลตนเองได้ ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แม้ว่าเชื้อมาลาเรีย จะสามารถต้านฤทธิ์ของยากันยุงบางชนิดได้ แต่หากต้องออกเดินทางกลางป่า หรืออยู่ในที่ที่มียุงเยอะ ก็ให้ทายากันยุงเอาไว้ก่อนจะดีที่สุด

  • ทายากันยุงให้เด็ก ๆ ทุกครั้ง เมื่อเด็กต้องออกไปนอกบ้าน หากเด็กมีอายุต่ำกว่า 3 ปี ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง ที่จะให้เด็กทายากันยุง เพราะผิวหนังของเด็กอาจเกิดการระคายเคืองได้

  • ไม่ฉีดสเปรย์ หรือยากันยุงที่ใบหน้าเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ดวงตาเกิดการระคายเคือง

  • ทาหรือฉีดสเปรย์กันยุงที่เสื้อผ้า เพื่อช่วยป้องกันยุงอีกชั้น

  • ไม่ไปในบริเวณที่ยุงเยอะ หรือคาดว่าจะมียุงเยอะ เพื่อไม่ให้โดนยุงกัดได้ง่าย ๆ เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้ว่า ยุงตัวไหนที่มีเชื้อมาลาเรียอยู่

  • แต่งกายให้มิดชิดเมื่อต้องอยู่นอกบ้านในตอนคำ่ หรือตอนกลางคืน หากต้องเดินทางไปในป่า ให้สวมกางเกงขายาวและเสื้อเเขนยาวให้เรียบร้อย

  • พยายามไม่ออกจากบ้านช่วงพลบค่ำจนถึงช่วงรุ่งเช้า เพื่อไม่ให้ยุงกัด เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ยุงออกหากิน

  • เดินสำรวจรอบ ๆ บ้าน ว่ามีแหล่งน้ำไหนที่ยุงสามารถวางไข่ได้ หากเจอก็ให้คว่ำภาชนะ หรือเทน้ำทิ้ง

  • กางมุ้งทุกครั้งที่ต้องนอนกลางป่า หรือนอนในที่ที่มียุงเยอะ

  • พยายามใส่เสื้อผ้าที่สีสว่าง เพราะยุงมักจะกัดคนที่ใส่เสื้อสีดำหรือสีเข้ม

  • อย่าใส่เสื้อผ้าที่รัดจนเกินไป เพราะจะทำให้ยุงกัดได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

  • พยายามควบคุมน้ำหนักตัว เพราะมีผลงานวิจัยกล่าวว่า ยุงมักจะกัดคนที่มีน้ำหนักตัวเยอะ

  • หากต้องเดินทางไปต่างประเทศ หรือในประเทศที่มียุงเยอะ และรู้สึกไม่สบายใจ สามารถเข้าปรึกษาแพทย์ก่อนการเดินทางได้

ดู 8 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page